
มารู้จักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Communauté économique asiatique) หรือ AEC ในภาษาอังกฤษ
AEC ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิก (10 pays membres) ซึ่งได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงค์โปร์ ซึ่งเป็น 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง (les 5 pays membres fondateurs) น่าภูมิใจจริง ๆ ฝรั่งเศสก็เป็นประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป ไทยก็เป็นประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเริ่มจากการเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียแห่งตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนในปี ค.ศ. 1967 จากนั้นก็รับ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชาเข้ามาเพิ่มตามลำดับ ทั้งหมดรวมกันมีคน 580 ล้านคน และทั้งสิบประเทศนี้กำลังมุ่งสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2015 หรืออีกสามปีข้างหน้านี้เอง
เมื่อเป็น AEC แล้ว อะไรจะเกิดขึ้น คนในประเทศสมาชิกจะทำการค้ากันโดยเสรี (le libre-échange) ภาษีนำเข้าส่งออกจะลดลงจนถึงไม่มีเลย คนสามารถเดินทางทำงานในกลุ่มประเทศสมาชิกได้โดยอิสระ (la libre circulation des travailleurs) หมายความว่าอีกไม่นาน เราจะมีเพื่อนร่วมงานเป็นคนสิงคโปร์ คนมาเลเซีย คนเวียดนาม และเราก็จะสามารถเดินทางไปทำงานที่พม่า ลาว หรือ บรูไนได้โดยมีสิทธิเท่าเทียมกับคนในประเทศนั้น เพราะทุกคนเป็น ประชากรอาเซียน น่าสนุกไหมล่ะครับ แต่ทั้งหมดนี้คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงโดยทันทีในปี 2015 เพราะยังต้องพูดคุยตกลงกันในรายละเอียด ผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่า ต้องรออีกอย่างน้อย สิบปี ถึงจะเป็นรูปธรรมชัดเจน
เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการเป็น AEC ใคร ๆ ก็ถามคำถามนี้ ในแง่ธุรกิจ ผู้ผลิตสินค้าสามารถหาวัตถุดิบที่ถูกกว่าจากประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้ามาผลิตในประเทศตนโดยไม่มีภาษี ราคาสินค้าที่ผลิตก็จะราคาถูกและส่งออกไปแข่งขันนอกประชาคมได้ ในแง่ของคนทำงาน ก็สามารถเดินทางไปหางานที่ตรงกับความรู้ของตนได้ในทุกประเทศ แทนที่จะถูกจำกัดอยู่ในประเทศของตน ก็มีประเทศอื่นอีกตั้งเก้าประเทศให้เลือกทำงาน
แล้วเราจะเสียประโยชน์ไหม มีได้ก็ต้องมีเสีย เหมือนคนฝรั่งเศสพูดว่า On ne fait pas d'omelette sans casser des oeufs. จะกินไข่เจียว ก็ต้องตอกไข่ ไม่อย่างนั้นจะทอดได้อย่างไร เราอาจเสียโอกาสทางธุรกิจถ้ามีบริษัทจากประเทศอื่นที่เก่งกว่า ทำสินค้าได้ถูกกว่า ส่วนคนทำงานก็อาจถูกคนจากประเทศอื่นที่เก่งกว่า มาแย่งงานไปไงครับ ยิ่งถ้าเราไม่เก่งพอที่จะออกไปหางานทำนอกประเทศตัวเอง ก็ยิ่งลำบาก
นักวิชาการเตือนคนไทยว่ายังไม่พร้อมด้านไหน สิ่งที่ทุกคนเป็นห่วงมากที่สุด คือ ภาษา ทุกคนบอกตรงกันหมดว่า คนไทย อ่อนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเป็นภาษากลางที่สำคัญในการทำการค้า พออ่อนภาษาอังกฤษความสามารถในการเจรจาทางการค้าก็อ่อนตาม เพราะไม่รู้จะพูดกับเขาอย่างไรให้เข้าใจ อีกทั้งยังบอกอีกว่า คนไทยให้ความสำคัญกับภาษาเพื่อนบ้านน้อย ไม่สนใจที่จะเรียนภาษาพม่า ตากาล็อก หรือภาษา Bahasa ของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งน่าเสียดายเพราะภาษาเพื่อนบ้านเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ดีในสร้างความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในขณะที่ภาษาอังกฤษจะทำหน้าที่เป็นภาษาหลักแห่งการค้า
ผู้ใหญ่บอกแบบนี้แล้ว เด็ก ๆ มองเห็นอนาคตตนเองหรือยังว่าต้องทำอะไร ถามตัวเองให้ดี แล้วอย่าโกหกตัวเอง ว่าภาษาอังกฤษเราดีหรือยัง เรามีภาษาอื่นเป็นตัวเสริมหรือไม่ เพราะนั่นจะบอกว่าเราพร้อมก้าวสู่โลกที่กว้างกว่าหรือยัง ตอนนี้ยังเหลือเวลาอีก สามปี ยังพอทันที่จะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังควบคู่ไปกับภาษาเพื่อนบ้านอื่น ๆ เพื่อที่ว่าในอีกสามสี่ีปีข้างหน้า เราจะได้เป็นประชากรอาเซียนที่มีคุณภาพสูง ไปทำงานที่ไหนก็ได้ พูดภาษาเจรจาธุรกิจกับคนชาติไหนก็ได้ ทำอะไรก็สะดวกไปหมด อนาคตสดใสเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์