1. วันแห่งการเดินทาง
วันนั้น เรายังจำได้ดี เวลาสักประมาณแปดโมงเช้า กำลังหลับ ๆ ตื่น ๆ เพราะเพลียจากการทำวิทยานิพนธ์ โทรศัพท์ที่วางอยู่ข้างหมอนก็แผดเสียงกริ๊งขึ้นมาอย่างที่ไม่ทันตั้งตัว เล่นเอาสะดุ้งพรวด พอเรียกขวัญกลับมาได้ก็รีบยกหูโทรศัพท์
"สวัสดีครับ อภิชาตพูด" แข็งใจทำเสียงใส
"อภิชาตเหรอ นี่ครูเองนะคะ" จำเสียงได้ว่าเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งจากธรรมศาสตร์ " ครูมีข่าวดีมาบอก อภิชาตได้ทุนไปเรียนการแปลที่ฝรั่งเศสค่ะ"
“โอย โลกมืดจังครับ” อาจารย์คงงงว่าเราดีใจหรือเสียใจแน่
ที่พูดออกไปอย่างนั้นก็เพราะว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เหลือเวลาอีกเพียง 6 เดือนเท่านั้นในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทการแปลที่ธรรมศาสตร์ให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จเขาก็จะริบทุนคืน แล้วชีวิตก็เหมือนพายุร้ายพัดเข้ามา วัน ๆ ได้แต่นั่งก้มหน้าก้มตาทำแต่วิทยานิพนธ์ เช้าเขียน เย็นพิมพ์ กลางวันหาข้อมูล กลางคืนพบอาจารย์ที่ปรึกษา บางวันคุยกับอาจารย์ถึงสามสี่ทุ่ม ตามไปคุยถึงบ้านก็มี ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่ทุ่มเทให้ขนาดนี้ เมื่อสอบวิทยานิพนธ์ผ่าน ก็ต้องดำเนินการขอใบรับรองจบการศึกษา ต้องย้ายข้าวของกลับบ้านต่างจังหวัด แล้วก็เก็บข้าวเก็บของใส่กระเป๋าเดินทาง ทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ โชคดีที่พาสปอร์ตยังไม่หมดอายุก็เลยไม่ต้องไปทำใหม่ วันทั้งวันได้แต่เตรียมของใส่กระเป๋า เช่น หม้อหุงข้าว เสื้อผ้า ยาสระผม หรือแม้กระทั่งไม้แขวนเสื้อ (ด้วยเหตุที่หยิบของเข้าเอาของออกหลายรอบ พอถึงฝรั่งเศสเปิดกระเป๋าออกดูจึงรู้ว่า ไม่มีไม้แขวนเสื้อ ติดมาเลยแม้แต่อันเดียว) เราวิ่งเตรียมของอย่างคนไร้สติ จนมารู้ตัวอีกทีก็อยู่บนเครื่องเสียแล้ว แม่เราคงบ่นในใจ เพราะไม่กลับบ้านเกือบครึ่งปี กลับมาให้เห็นหน้าไม่กี่วันก็เผ่นไปเมืองนอกอีกเป็นปี ๆ
บนเครื่องเราได้ที่นั่งข้างหน้าต่าง เห็นปีกเครื่องบินเพยิบ ๆ แล้วรู้สึกหวิว ๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ขึ้นเครื่อง แต่จะเป็นครั้งแรกที่อยู่บนเครื่องติดต่อกันนานที่สุด นั่นคือ 13 ชั่วโมง เพราะเที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินตรงกรุงเทพ-ปารีสนั่นเอง ตอนก่อนที่มาปารีสยังไปทรานสิตที่ดูไบให้โล่งใจบ้าง นั่งข้างหน้าต่างก็ดีอย่างตรงที่ได้เห็นทิวทัศน์จากที่สูง แต่ก็ไม่ดีตอนไปเข้าห้องน้ำเพราะต้องรบกวนคนที่นั่งอยู่ข้างๆ แล้วเราก็เป็นคนเข้าห้องน้ำบ่อยเสียด้วย
หลังจากข่มตาให้หลับแต่ไม่หลับมาทั้งคืน ในที่สุดก็มาถึงสนามบินชาร์ลส์ เดอ โกลล์เสียที ลงจากเครื่องก็มีรายการตรวจค้นกระเป๋าเดินทางกันสนุกสนาน โดยเฉพาะคนที่ขนบ้านใส่กระเป๋ามาทั้งหลัง เรารอดตัวไปเพราะกระเป๋าไม่ใหญ่มากนัก กลัวเหมือนกันเพราะถ้าค้นเจอหมูหยองแล้วไม่รู้จะอธิบายว่าเป็นอะไรดี มารู้ทีหลังว่าฝรั่งบางคนเรียกเล่น ๆ ว่า “สำลีหมู” (du coton de porc) ออกจากสนามบินก็มีรถมารับไปยัง CNOUS (Centre National des Oeuvres Universitaires et Scolaires) หน่วยงานกระทรวงศึกษาอันเป็นที่ลงทะเบียนบอกกล่าวว่านักเรียนต่างชาติมาถึงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำการออกตั๋วรถไฟให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปจังหวัดอื่น ระหว่างรอนั้น เรากับอาจารย์และนักเรียนที่ได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศสก็พากันออกไปเดินสำรวจรอบ ๆ โดยมีจุดประสงค์ใหญ่คือหาของกินเพราะแต่ละคนหิวจนหน้ามืดตาลาย ถึงร้านขาย Kebab (แซนด์วิชแบบแขก ทำจากขนมปังก้อนใหญ่ผ่าครึ่งแล้วยัดเนื้อไก่หรือเนื้อวัว ผักต่างๆ แล้วราดด้วยซ๊อส) ก็ถลากันเข้าไป เจ้าของร้านที่เป็นแขกขาวมองหน้าแล้วพูดแบบฉุน ๆ ว่า “ร้านยังปิดอยู่” ก็เลยต้องเดินจ๋อยกันออกมา เปิดฉากเช้าวันแรกที่ฝรั่งเศสได้สวยจริง ๆ สุดท้ายก็เลยต้องไปซื้อขนมกรุบกรอบมากินรองท้องกันไปก่อน
จากนั้นก็กลับมานั่งรอที่ CNOUS อีกครั้ง (ออกเสียงเรียกสั้นๆว่า คะ-นูส) นักเรียนและอาจารย์ไทยที่มาด้วยกันทยอยออกเดินทางไปทีละคนสองคน จนเหลือเราเพียงคงเดียว เรานั่งรอจนเกือบ ๆ เที่ยงจึงได้ตั๋วไปเมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) โดยต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานี การ์ เดอ แลสต์ (Gare de l'Est) ก่อนขึ้นรถไฟ เพื่อความแน่ใจก็เข้าไปหานายตรวจ ยื่นตั๋วให้ดูแล้วถามว่าคันนี้ไปสตราสบูร์กหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า Oui (ใช่) จึงยกกระเป๋าที่หนักเกือบ 40 กิโลขึ้นรถ ด้วยความว่ากระเป๋าหนักมาก มันก็ดันเราถอยลงมาจากประตูรถ ดีที่ฝรั่งคนข้างหลังเอามือดันไว้แล้วผลักกระเป๋าขึ้นไปให้
เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ที่เรากำลังจะไปนั้นอยู่ในแคว้นอัลซาส (Alsace) ทางทิศตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส สตราสบูร์กเป็นเมืองหลวงของยุโรปเพราะเป็นที่ตั้งของรัฐสภายุโรป และหน่วยงานสำคัญ ๆ ของสหภาพยุโรปอีกมากมาย คนสตราสบูร์กพูดภาษาฝรั่งเศสและภาษาอัลเซเชียน ซึ่งเป็นภาษาถิ่นลักษณะคล้ายภาษาเยอรมัน ดินแดนแห่งนี้ถูกยื้อแย่งและตกอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศสและเยอรมันสลับไปสลับมาหลายครั้ง คนที่นี่ก็เลยรู้สึกว่า ตนเองไม่ได้เป็นทั้งฝรั่งเศสและเยอรมัน แต่เป็น “อัลเซเชียน”
ตลอดการเดินทางสู่สตราสบูร์กแม้จะง่วงมาก แต่ก็หลับไม่ลง เพราะกลัวคนมาคว้ากระเป๋าเดินทางลงไป ถึงมันจะหนักเกือบ 40 กิโลก็เถอะ ฝรั่งตัวใหญ่ ๆ ลากพรวดเดียวก็เอาลงจากรถได้แล้ว ที่ห่วงน่ะ ก็พวกกะปิ น้ำปลา มาม่า หมูหยอง ที่กองสุมกันอยู่ในนั้นต่างหาก มีช่วงหนึ่งเผลอหลับไป สะดุ้งตื่นขึ้นมามองหากระเป๋าไม่เจอ ฉิ…หายแล้ว หมูหยองของข้า พอหาดูอย่างถ้วนถี่ก็พบกระเป๋าตัวเองไปกองอยู่ท้ายโบกี้ คงเป็นเพราะตู้รถโคลงไปมา กระเป๋าก็เลยไหลไปตามทางเดิน ที่จริงมีที่วางกระเป๋าผู้โดยสารตรงข้างประตูขึ้นลง แต่บังเอิญกระเป๋าเราใหญ่มาก ยัดไม่เข้า เลยต้องเอามาไว้ข้าง ๆ ตัว เราเดินโซเซไปลากกระเป๋ากลับมา พวกฝรั่งมองหน้าแล้วยิ้ม ๆ ทำไมฟะ ไม่เคยเห็นคนลากกระเป๋ารึไง
หลังจากนั้นก็เผลอหลับไปนิดหนึ่ง มาสะดุ้งตื่นตอนได้ยินเสียงประกาศอะไรไม่รู้ลงท้ายด้วย “บูร์ก” แล้วก็ตามมาด้วย “Deux minutes d'arrêt” อะไรกัน ถึงแล้วหรือ แล้วรถจอดแค่สองนาทีเอง ใครจะลงทัน ว่าแล้วก็กุลีกุจอลากกระเป๋าเจ้ากรรมอย่างไร้สติตรงไปที่ประตู พยายามมองหาป้ายเมืองสตราสบูร์กก็ไม่เห็นมี ใจยังลังเล แต่ขาก็ก้าวลงมายืนบนชานชาลาเสียแล้ว และตรงนั้นเองที่สังเกตเห็นป้ายสถานีรถไฟเก่า ๆ เขียนว่า SARREBOURG (ซาร์บูร์ก ห่างจากสตราสบูร์กราว 60 กิโลเมตร) ก็เลยช็อคทำอะไรไม่ถูก แต่ยังรู้สึกได้ถึงลมเย็น ๆ จากขบวนรถไฟที่กำลังห้อออกจากสถานี
เมื่อรู้ว่าพลาดไปแล้วก็ตั้งสติใหม่ เราตัดสินใจเดินตรงเข้าไปที่ช่องขายตั๋ว บอกพนักงานว่าลงสถานีผิดจะทำอย่างไร
"ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวขึ้นรถคันต่อมาได้เลย." พนักงานดูตั๋วแล้วบอก
โอย โล่งอก แถมใช้ตั๋วใบเดิมขึ้นรถได้อีกด้วย เพราะตั๋วของฝรั่งเศสหลังจากตอกตั๋ว จะใช้ได้ตลอดภายในเวลา 24 ชั่วโมง งานนี้ก็เลยไม่ต้องซื้อตั๋วใหม่ จากนั้นก็มานั่งแกร่วฆ่าเวลาข้างชานชาลา แล้วจู่ ๆ ก็มีหนุ่มฝรั่งเศสเข้ามาขอให้เฝ้ากระเป๋าให้หน่อยเพราะจะไปหาของกิน เราเองก็ไม่อยากรับฝากเพราะไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน แถมโดนเพื่อน ๆ ขู่มาว่าที่สนามบินถ้ามีใครมาฝากของอย่ารับเป็นอันขาด แต่เผอิญที่นี่เป็นสถานีรถไฟ ก็เลยเออออว่าจะดูให้ ที่จริงก็เหลือบ ๆ ดูให้เท่านั้น สักครู่ชายคนนั้นก็ย้อนกลับมาพร้อมแซนด์วิชแฮมและเนยแข็งและรีบกล่าวขอบคุณ
"ผมมาจากเมืองไทย ตั้งใจจะไปสตราสบูร์ก แต่ลงสถานีผิด...” เราเห็นดูท่าไว้ใจได้ก็เลยคุยด้วย ได้ฟังเท่านี้เขาถึงกับสำลัก
"อ้าว ที่นี่ไม่ใช่สตราสบูร์กหรอกเรอะ" นั่นไง พิสูจน์ได้ว่าความสามารถในการฟังของเรากับคนฝรั่งเศสอยู่ในระดับใกล้เคียงกันใช้ได้ เราก็เลยได้เพื่อนคุยร่วมเดินทางด้วยกันจนถึงสตราสบูร์กโดยสวัสดิภาพ